ถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์





• ถ่ายทอดสดภาพถ่ายกิจกรรมภาพถ่ายปรากฏการณ์ภาพถ่ายและกิจกรรมในต่างประเทศ


ลำดับเหตุการณ์ ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เขาชะโงก จ.นครนายก
ดวงอาทิตย์ขึ้นดาวศุกร์เข้าในดวงอาทิตย์ลึกที่สุดสัมผัสที่ 3สัมผัสที่ 4
05:47 น.08:32:22 น.11:32:25 น.11:49:47 น.


ขอเชิญรับเสด็จและเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ปรากฏการณ์แห่งศตวรรษ ด้วยมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และสมาคมดาราศาสตร์ไทย จัดกิจกรรมดังกล่าวในวันพุธที่ 6 มิถุนายน 2555 ตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกาเป็นต้นไป ถึงเที่ยงวัน ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เขาชะโงก จังหวัดนครนายก โดยพร้อมเพรียงกัน
สมาคมดาราศาสตร์ไทยขอเชิญชวนประชาชน นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ ในปรากฏการณ์แห่งศตวรรษครั้งนี้ เข้าร่วมกิจกรรม โดยสมาคมดาราศาสตร์ไทย จะมีอุปกรณ์ดาราศาสตร์สำหรับสังเกตการณ์ มีนิทรรศการ การสังเกตการณ์อย่างถูกต้อง และมีกล้องโทรทรรศน์ดาราศาสตร์แบบพิเศษหลายรูปแบบมาให้ศึกษา และบริการ โดยสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้เชิญนักเรียนทุนและนักเรียนที่ได้รับเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ดาราศาสตร์โอลิมปิก มาให้คำแนะนำในการสังเกตการณ์อย่างถูกต้องและปลอดภัย

เว็บไซต์ถ่ายทอดสดอื่น ๆ

รายละเอียดเพิ่มเติม

จุดเริ่มต้นของวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day


ในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีนั้น เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งเป็นวันที่เราควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อสภาพแวดล้อมของเราที่ย่ำแย่ลงทุกวัน สังเกตได้จากปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งหิมะขั้วโลกเหนือละลาย น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรืออากาศร้อนขึ้น ซึ่งผลเหล่านี้ล้วนมาจากการมนุษย์ที่เป็นคนทำลายธรรมชาติ ทำลายสิ่งแวดล้อมดีๆ นั่นเอง ทำให้หน่วยงานของโลกจัดตั้งวันสิ่งแวดล้อมโลกขึ้น

          สำหรับจุดเริ่มต้นของวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day นั้นจัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดความตื่นตัวในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมขึ้นทั่วโลก จึงมีมติให้จัดประชุมใหญ่ที่กรุงสตอกโฮลม์ ระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ที่มีรัฐบาลของสวีเดนเป็นเจ้าภาพ โดยเรียกการประชุมนี้ว่า"การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์" หรือ "UN Conference on the Human Environment" ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน จาก 113 ประเทศ รวมถึงมีผู้สังเกตการณ์อีกกว่า 1,500 คน จากหน่วยงานของรัฐ องค์การสหประชาชาติ และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ

          ทั้งนี้เพื่อร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่างๆ กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งผลจากการประชุมครั้งนั้นได้มีข้อตกลงร่วมกันหลายอย่าง เช่น การจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP: United Nations Environment Programme) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา และรัฐบาลประเทศต่างๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้น ไปจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน ดังนั้นเพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือ จากหลากหลายชาติในด้านสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก
วันสิ่งแวดล้อมโลก

วันสิ่งแวดล้อมโลก


          ซึ่งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติมีหน้าที่ติดตาม และประเมินผลการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทางที่ดี และเพื่อให้เป้าหมายบรรลุผลจึงได้กำหนดวิธีการไว้ดังนี้

          สร้างความตื่นตัวในการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม และให้การศึกษากับประชาชนและนักศึกษาทั่วไป

          ให้การสนับสนุนทางวิชาการ และเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

         เสริมสร้างให้สถาบันและคนในสถาบันตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม
วันสิ่งแวดล้อมโลก

          นอกจากนั้น ยังมีข้อตกลงจากการประชุมให้มาดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน ซึ่งประเทศไทยก็ได้ตราพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2518 และได้ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการดำเนินงาน ด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็น 3 หน่วยงาน คือ

          1.กรมควบคุมมลพิษ

          2 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

          3.สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
วันสิ่งแวดล้อมโลก

          และในส่วนของสถาบันการศึกษาก็ได้มีการจัดสอนหลักสูตรด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในหลาย ๆ มหาวิทยาลัย ซึ่งนับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสื่อมวลชนก็ได้ส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวในปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งวันสิ่งแวดล้อมโลกในแต่ละปีก็จะมีหัวข้อที่ต่างกันออกไป

          พ.ศ. 2528 เยาวชน ประชากร และสิ่งแวดล้อม (Youth, Population and Environment)

         
พ.ศ. 2529 ต้นไม้เพื่อสันติภาพ (A Tree for Peace)

          
พ.ศ. 2530 (Public Participation,Environment Protection and Sustainable Development)

          
พ.ศ. 2531 การมีส่วนร่วมของประชาชน การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (When people put the environment first,development will last)

          
พ.ศ. 2532 ภาวะโลกร้อน (Global Warming,Global Warming)

          
พ.ศ. 2533 เด็ก และสิ่งแวดล้อม (Children and the Environment (Our Children,Their Earth))

          
พ.ศ. 2534 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change : Need for Global Partnership)

          
พ.ศ. 2535 (Only One Earth : Care and Share)

          
พ.ศ. 2536 (Poverty and the Environment : Breaking the Vicious Circle)

          
พ.ศ. 2537 โลกใบเดียว ครอบครัวเดียวกัน (One Earth, One Family)

          
พ.ศ. 2538 ประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมโลก (We The Peoples,United for the Global Environment)

          
พ.ศ. 2539 รักโลก : ดูแลถิ่นฐานบ้านเรา (Our Earth, Our Habitat,Our Home)

          
พ.ศ. 2540 เพื่อชีวิตที่ยั่งยืนบนผืนโลก (For Life one Earth)

          
พ.ศ. 2541 เศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงชีวิตยั่งยืน (For Life on Earth "Save our Seas")

          
พ.ศ. 2542 รักโลก รักอนาคต รักษ์สิ่งแวดล้อม ("Our Earth,Our Future...Just Save It")

          
พ.ศ. 2543 ปี 2000 สหัสวรรษแห่งชีวิตสิ่งแวดล้อม : ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อโลก เพื่อเรา (2000 The Environment Millennium :Time to Act)

         
พ.ศ. 2544 เชื่อมโยงโลกกว้าง ร่วมสร้างสานสายใยชีวิต (CONNECT with the World Wide Web of Life)

          
พ.ศ. 2545 ให้โอกาสโลกฟื้น คืนความสดใสให้ชีวิต (Give Earth a Chance)

          
พ.ศ. 2546 รักษ์น้ำเพื่อสรรพชีวิต ก่อนวิกฤตจะมาเยือน (Water - Two Billion People are Dying for it!)

          
พ.ศ. 2547 ร่วมพิทักษ์ ร่วมรักษ์ทะเลไทย (Wanted! Sea and Oceans - Dead or Live?)

          
พ.ศ. 2548 เมืองเขียวสดใส ร่วมใจวางแผนเพื่อโลก (GREEN CITIES PLAN FOR THE PLANET!)

          
พ.ศ. 2549 เพิ่มความชุ่มชื้น คืนสู่ธรรมชาติ (DON T DESERT DRYLANDS!)

          
พ.ศ. 2550 ลดโลกร้อน ด้วยชีวิตพอเพียง (MELTING ICE-A HOT TOPIC)

          
พ.ศ. 2551 ลดวิกฤติโลกร้อน : เปลี่ยนพฤติกรรม ปรับแนวคิด สู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Co2 Kick the Habit ! Towards a Low Carbon Economy)

          พ.ศ. 2552 คุณคือพลัง ช่วยหยุดยั้งภาวะโลกร้อน (Your Planet Needs You - Unite to Combat Climate Change)  
          พ.ศ. 2553 ความหลากหลายทางชีวภาพ กู้วิกฤติชีวิตโลก (Many Species One Planet One Future)

          พ.ศ. 2554 ป่าไม้มีคุณ เกื้อหนุนสรรพชีวิต คิดถนอมรักษา (Forests:Nature at your Service)

          พ.ศ. 2555 คุณคือพลัง สร้างสรรค์เศรษฐกิจ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Economy: Does it include you?)


          
โลกร้อน เกิดภัยพิบัติมากมาย ดังนั้นถึงเวลาแล้ว ที่พวกเราจะร่วมช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมกันแบบจริง ๆ จัง ๆ เพื่อเก็บมันเอาไว้ให้ลูกหลานของเราได้เห็น 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

deqp.go.th
lib.ru.ac.th
phsmun.go.th

เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2555



เป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้วที่มีเวทีเพื่อเชิดชูนักวิทยาศาสตร์หญิงไทยโดยเฉพาะ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเล็งเห็นว่าในวงการวิทยาศาสตร์นั้นมีผู้หญิงเป็นแรงขับเคลื่อนอยู่จำนวนไม่น้อย แต่เธอเหล่านั้นกลับไม่ได้รับการยกย่องเท่าที่ควร และในโอกาสครบรอบ 1 ทศวรรษของการมอบรางวัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ได้มีการเพิ่มรางวัลในสาขา “เคมี” ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจมากขึ้น
       
       “ใครสนับสนุนวิทยาศาสตร์ผมก็ยินดีทั้งนั้น” ความเห็นของ ดร.กอปร กฤตยากีรณ ประธานคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทยกล่าว โดยอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ภูมิใจที่มีส่วนร่วมในโครงการทุนวิจัยดังกล่าว และประทับใจที่บริษัทเครื่องสำอางซึ่งมีผลิตภัณฑ์สัมผัสกับผู้ใช้โดยตรง แต่ก็มีงานวิจัยเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยต่อผู้ใช้อันถือเป็นความรับผิดชอบสูงสุดต่อสังคม
       
       โครงการวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประเทศไทยนั้นได้สนับสนุนนักวิจัยสตรีไทยเป็นเวลา 10 ปีแล้วผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 35 คนแล้ว โดย นางสดับพิณ คำนวณทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ ลอรีอัล ประเทศไทย กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการมอบทุนวิจัยโดยย้อนไปตั้งแต่เมื่อก่อตั้งบริษัทว่า ลอรีอัลก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2452โดย ยูชีน ชูแลร์ นักเคมีชาวฝรั่งเศส ซึ่งอาศัยห้องครัวเป็นส่วนปฏิบัติการผลิตสีย้อมผม
       
       “ผู้ก่อตั้งบริษัทของเราเป็นนักเคมี ดังนั้น วิทยาศาสตร์จึงเป็นหัวใจของเรา และเรายังเป็นหนึ่งในบริษัทผู้บุกเบกการผลิตเยื่อผิวหนังสังเคราะห์แทนการใช้สัตว์ทดลอง ที่ผ่านมาเราใช้เนื้อเยื่อสังเคราะห์จากยุโรป แต่เมื่อ 3 ปีที่แล้วเราสามารถผลิตเยื่อผิวหนังสังเคราะห์สำหรับชาวเอเชียได้แล้ว” นางสดับพิณกล่าว
       
       ผ่านมากว่าร้อยปีทางลอรีอัลมีนักวิจัยกว่า 3,400 คนจาก 61 เชื้อชาติทำงานอยู่ในศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ลอรีอัล 16 แห่งทั่วโลก และให้ทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาปีละ 26,650 ล้านบาท และมีสิทธิบัตรออกมาเฉลี่ยปีละ 612 สิทธิบัตร แต่ในจำนวนนักวิจัยหลายพันคนนั้นเป็นนักวิจัยผู้หญิงมากกว่า 55% ทำให้ มร.ลินเซย์ โอเว่น โจนส์ ประธานบริษัท ลอรีอัล ริเริ่มโครงการสนับสนุนนักวิจัยผู้หญิงซึ่งเป็นแรงผลักดันนวัตกรรมให้แก่โลก
       
       ดังนั้น ในปี 2542 ลอรีอัลจึงร่วมมือกับองค์กรยูเนสโก (UNESCO) จัดตั้งโครงการทุนวิจัยเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ (For Women in Science) และในปี 2545 ลอรีอัล ประเทศไทย จึงริเริ่มโครงการระดับประเทศในไทยขึ้น ในชื่อโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” โดยมอบทุนใน 2 สาขา คือ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และ วัสดุศาสตร์ และในโอกาสครบรอบ 10 ปี ได้เพิ่มสาขาเคมีอีก 1 สาขา รวมทั้งเพิ่มมูลค่าทุนจาก 200,000 บาท เป็น 250,000 บาท
       
       นางสดับพิณกล่าวว่า ทุนวิจัยในโครงการนี้เป็นทุนให้เปล่า ไม่มีข้อผูกมัด และเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการสนับสนุนงานวิจัยที่ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะเห็นผล และงานวิจัยส่วนมากจะใช้เวลายาวนานนับสิบปีและต่อยอดได้เรื่อยๆ ซึ่งจากการติดตามจึงพอจะทราบว่านักวิจัยบางท่านได้นำทุนวิจัยไปใช้ในการเพิ่มศักยภาพของคณะทำงาน ทั้งนี้ ไม่มีงานวิจัยใดเลยที่เกี่ยวกับเครื่องสำอาง หรือเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของลอรีอัล
       
 
       สำหรับคณะกรรมการตัดสินรางวัลได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในวงการวิทยาศาสตร์ทั้งหมด 8 ท่าน อาทิ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ รองปะธานกิตติมศักดิ์และอดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศ.ดร.รมว.ชิษณุสรร สวัสดิวัฒน์ อดีตนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ศ.ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา ศาสตรจารย์ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น และ ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ศาสตราจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัลคนล่าสุดจากการเพิ่มรางวัลสาขาเคมี
       
       ในมุมของ ศ.ดร.จำรัสกล่าวว่า เราเห็นได้ว่าผู้บริหารหรือผู้มีตำแหน่งสูงๆ ด้านวิทยาศาสตร์นั้นยังเป็นผู้หญิงอยู่น้อย แต่ในคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ มีนักศึกษาเป็นผู้หญิงมากกว่า 50% ซึ่งผู้หญิงยังได้รับโอกาสอยู่น้อย จึงน่าจะมีรางวัลสำหรับผู้หญิงมาตั้งนานแล้ว พร้อมทั้งให้ความเห็นว่าการที่ผู้หญิงเติบโตสู่ตำแหน่งบริหารได้น้อย ส่วนหนึ่งเพราะผู้หญิงนั้นมีภาระหนักด้านงานบ้านที่ต้องรับผิดชอบควบคู่ไปด้วย
       
       อย่างไรก็ดี ภาพโอกาสความก้าวหน้าของผู้หญิงในปัจจุบันนั้น ทาง ดร.กอปรกล่าวว่าเป็นภาพย้อนของอดีตเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งในยุคก่อนนั้นผู้หญิงยังได้รับโอกาสทางการศึกษาและอื่นๆ อยู่น้อย และกว่าจะเติบโตเป็นผู้บริหารต้องใช้เวลานาน หากแต่เชื่อว่าต่อไปในอีก 10-20 ปี จะเห็นผู้หญิงก้าวหน้าในอาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีผู้หญิงเรียนวิทยาศาสตร์กันมาก ขณะเดียวกันประเทศไทยก็เป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่โอกาสในการทำงานระหว่างผู้หญิงและผู้ชายเท่าเทียมกัน
       
       สำหรับเกณฑ์ในการรับสมัครนักวิจัยสตรีไทยเข้ารับรางวัลเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์นี้เปิดโอกาสให้แก่นักวิจัยหญิงทีมีอายุระหว่าง 25-40 ปีและมีผลงานวิจัยอิสระที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวัสดุศาสตร์ และสาขาเคมี ซึ่งคณธกรรมการจะพิจารณามอบทุนทั้งสิ้นไม่เกิน 5 ทุน และผู้สมัครยังได้รับสิทธิคัดเลือกเสนอชื่อเพื่อชิงทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ต่อไป
       
       ******
       นักวิจัยสตรีไทยผู้สนใจสมัครทุน “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ขอใบสมัครได้ที่ beauty@th.loreal.com หรือ โทร.0-2684-3000 และส่งใบสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ - 31 พ.ค.55 (ประกาศผลรางวัลในเดือน ส.ค.55)


บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด โดยการสนับสนุนของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศเปิดรับสมัครสตรีนักวิทยาศาสตร์ไทยเข้าร่วมโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ครั้งที่ 10 ประจำปี 2555 ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 พฤษภาคมนี้
นางสดับพิณ คำนวณทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “ในปีนี้เป็นวาระพิเศษ ในโอกาสการดำเนินการมาถึงขวบปีที่ 10 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและพันธะสัญญาของลอรีอัลในการร่วมสนับสนุนวงการวิทยาศาสตร์ของไทยให้พัฒนาก้าวไปข้างหน้า รวมถึงการสนับสนุนบทบาทของสตรีไทยในงานวิทยาศาสตร์ เราจึงได้เพิ่มรางวัลจากเดิม 4 ทุน เป็น 5 ทุน นอกจากนี้ยังได้เพิ่มมูลค่าทุนจากเดิม 200,000 บาท ต่อทุน เป็น 250,000 บาทต่อทุน และเพิ่มสาขาของทุนสนับสนุนงานวิจัย จากเดิมเพียง 2 สาขา คือ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวัสดุศาสตร์ ปีนี้เราได้เพิ่มอีกหนึ่งสาขา คือ สาขาวิทยาศาสตร์เคมี”

“วิทยาศาสตร์เคมี” เป็นสาขาที่มีความใกล้ชิดกับลอรีอัลเป็นอย่างมาก ประการแรก คือ ผู้ก่อตั้งลอรีอัล มร.ยูชีน ชูแลร์ ซึ่งเป็นนักเคมี ที่ได้คิดค้นน้ำยาย้อมผมที่ปลอดภัยกับหนังศรีษะเป็นครั้งแรก ประการที่สอง คือ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาลอรีอัลได้ให้ทุนวิจัยในสาขาที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสูตรเครื่องสำอาง แต่ในปีนี้ได้เริ่มให้ทุนในสาขาที่เกี่ยวข้อง และวิทยาศาสตร์เคมี เป็นสาขาที่เป็นแก่นของการค้นคว้าวิจัยเครื่องสำอาง

ดร.กอปร กฤตยากีรณ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า  “ผมมีความภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ของลอรีอัล การพิจารณาเพิ่มทุนในสาขาวิทยาศาสตร์เคมีนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเคมีเป็นศูนย์กลางของวิทยาศาสตร์ เคมีเป็นพื้นฐานของความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและจักรวาลของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับโมเลกุลเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตอาหาร ยา เชื้อเพลิง โลหะ ฯลฯ วิทยาศาสตร์ด้านการพัฒนาเพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของมวลมนุษยชาติ ล้วนมาจากศาสตร์เคมีทั้งสิ้น”

“ที่ผ่านมา ลอรีอัลได้มอบทุนวิจัยให้กับนักวิจัยสตรีคนไทยแล้ว 35 ทุน โดยได้รับเกียรติจากนักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศร่วมเป็นคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ ลอรีอัลอยากเชิญชวนนักวิจัยสตรีไทยส่งใบสมัครเข้ามารับทุน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้สังคมไทยเห็นความสำคัญของงานวิทยาศาสตร์ในวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ การค้นคว้าวิจัยมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของคนไทย” 

ในปี 2555 โครงการ ทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” จะมีการมอบทุนสนับสนุนงานวิจัยทุนละ 250,000 บาท จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 5 ทุน ให้กับสตรีนักวิทยาศาสตร์ที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี ที่มีผลงานวิจัยโดดเด่นในสาขาวัสดุศาสตร์ (Material Science) สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Science) หรือสาขาวิทยาศาตร์เคมี (Chemical Science)

นักวิจัยที่สนใจสามารถสมัครรับทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ครั้งที่ 10 ประจำปี 2555 ได้ถึงวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ โดยสามารถขอรับใบสมัครได้ที่ beauty@th.loreal.com หรือโทร.0-2684-300
0

คุณครูไทยสอนวิทยาศาสตร์ยุคนี้เหนื่อยไหม

 การอบรมครูวิทยาศาสตร์ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้ำยุค” ที่จัดขึ้นครั้งที่ 1 สำหรับครูในเขตภาคกลางระหว่างวันที่ 29-31 พ.ค.55 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย


ในสังคมปัจจุบัน ไม่เพียงแต่สิ่งแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมาก องค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ก็ก้าวหน้าไปมากเช่นกัน การเป็นครูในยุคสมัยนี้คงยิ่งเหนื่อยยากกว่าเก่าเป็นทวีคูณ เพราะมิใช่แค่เพียงต้องก้าวตามเทคโนโลยีต่างๆ ให้ทัน แต่ยังต้องช่วยให้ลูกศิษย์ก้าวตามอย่างรู้เท่าทันด้วย


       
 ขณะที่ นายนิพนธ์ ศรีนฤมล จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเป็นครูรางวัลครูดีเด่นคุรุสภา ปี 2550 อีกทั้งยังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษานักเรียนในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลระดับโลกหลายรางวัล ให้ความเห็นถึงวามยากลำบากของครูวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันว่า ต้องทำการบ้านเยอะ เพราะสมัยนี้ไม่ใช่แค่เรียนให้ได้ความรู้แต่ต้องรอบรู้วิทยาศาสตร์ด้วย เนื่องวิทยาศาสตร์ล้ำยุคและก้าวกระโดดไปมาก
       
       “ต้องให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่ใกล้ตัว ทำให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และตัวครูเองต้องติดตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็ก ให้เด็กคิดวิเคราะห์เยอะๆ ซึ่งไม่เพียงแค่เด็กเท่านั้น แต่ครูต้องกล้าเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ชี้แนะเด็ก ไม่ใช่ ชี้นำ” ครูนิพนธ์กล่าว และเสริมว่าการเรียนสมัยนี้พึ่งครูเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีความร่วมมือระหว่างครู ผู้ปกครองและชุมชนด้วย

       
       

น.ส.เกสร ยุวัฒนา อาจารย์วิทยาศาสตร์จากโรงเรียนภาชี “สุนทรวิทยานุกูล” จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้มีประสบการณ์วิทยาศาสตร์นานถึง 36 ปี กล่าวว่า องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์นั้นเปลี่ยนไปจากเดิม ขณะเดียวกัน ทั้งเด็กและสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนตามไปด้วย ปัจจุบันเทคโนโลยีไปไกลมากและช่วยให้นักเรียนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา

       
       “เวลาครูสอนถ้าบอกเด็กว่าเรื่องนี้สามารถค้นได้จากอินเทอร์เน็ต เขาก็จะค้นดูเดี๋ยวนั้นเลย แต่เรื่องนี้ก็เป็นพฤติกรรมเฉพาะบางคน สำหรับเด็กเก่งก็จะได้ประโยชน์แต่เด็กบางคนก็ใช้ไปกับเรื่องไร้สาระ อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีทุกวันนี้นับว่ามีประโยชน์สำหรับเด็กเก่ง” ครูวิทยาศาสตร์วัย 57 ปี ให้ความเห็น
       
       ส่วนเรื่องข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบนั้น ครูเกสร มองว่า นักเรียนในชนบทนั้นแข่งขันกับนักเรียนในเมืองได้ยาก และยังมีความเสียเปรียบในเรื่องความพร้อม ทั้งเรื่องครูและอุปกรณ์ที่เทียบกับนักเรียนในเมืองไม่ได้ อย่างไรก็ดี ในโรงเรียนเล็กๆ ก็ยังพอมีนักเรียนเก่งๆ อยู่บ้าง ซึ่งเด็กเหล่านั้นมักเรียนต่อในโรงเรียนเล็กๆ เพื่อจะได้รับประโยชน์เรื่องสิทธิการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยผ่านระบบรับตรง
       
       “เด็กเก่งมักจะเก่งด้วยตัวเองอยู่แล้วซึ่งเราก็ส่งเสริมให้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ หรือเป็นตัวแทนตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ ส่วนเด็กไม่เก่งนั้นมีหลายแบบ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เด็กอ่านหนังสือไม่แตกฉาน ไม่สนใจ และเดี๋ยวนี้เขาเน้นไม่ให้เด็กสอบตก หากเด็กตก ผู้สอนก็จะโดนตำหนิ ซึ่งหลายคนก็ถูกปล่อยผ่านมาตั้งแต่ประถมจนเมื่อถึงชั้นมัธยมก็กลายเป็นปัญหา” ครูเกสร กล่าวถึงปัญหาการเรียนการสอนในเด็กยุคใหม่ซึ่งสะท้อนปัญหาการศึกษาทั่วไปของไทยได้
       
       ทางด้าน น.ส.พัชรี สรวยล้ำ อาจารย์เคมีระดับ ม.ปลายประจำโรงเรียนวิเชียรกลิ่นสุคนธ์อุปถัมภ์ จ.พระนครศรีอยุธยา ครูวัย 27 ปี 
ซึ่งจบทางด้านเคมีมาโดยตรงกล่าวว่าที่โรงเรียนแบ่งการสอนวิทยาศาสตร์ตามความรู้ของครูของอย่างชัดเจน ซึ่งการสอนวิทยาศาสตร์ในสมัยนี้จำเป็นต้องใช้สื่อที่ทันสมัย เช่น ใช้คอมพิวเตอร์สื่อเรื่องการทดลอง เป็นต้น แต่ก็ยังต้องมีการทดลองเพื่อฝึกทักษะการใช้อุปกรณ์ให้แก่นักเรียน
       
       “จากประสบการณ์ที่สอนมา 6 ปี เนื้อหาทางด้านเคมีไม่ได้ต่างไปจากเดิมมากนัก แต่เรื่องการประยุกต์ใช้มีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก และเด็กๆ ก็มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมากกว่าเมื่อก่อนมาก มีคำศัพท์ใหม่ๆ มาถามบ่อย มีการใช้อินเทอร์เน็ตช่วยในการเรียนการสอนด้วย แต่ก็มีอุปสรรคในการสอนคือเด็กไม่เข้าใจวิทย์ แค่ได้ยินก็ไม่อยากเรียนแล้ว ซึ่งวิธีทำให้เด็กสนใจ คือ เด็กชอบการทดลอง เด็กอยากทดลอง ก็ให้เด็กได้ทดลอง แล้วค่อยอัดทฤษฎีให้ทีหลัง” ครูพัชรี กล่าว

       
       ทั้งนี้ เป็นการให้ความเห็นระหว่างการอบรมครูวิทยาศาสตร์ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้ำยุค” ที่จัดขึ้นครั้งที่ 1 สำหรับครูในเขตภาคกลางระหว่างวันที่ 29-31 พ.ค.55 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

 ซึ่ง ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงการจัดงานว่า ต้องการให้ครูวิทยาศาสตร์ได้เห็นว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และนำไปบอกนักเรียนว่าเมื่อการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์แล้วไปทำงานอย่างไรได้บ้าง
       
       “ครูวิทยาศาสตร์ในอุดมคติ คือ ครูที่ก้าวทันโลก เพราะสิ่งต่างๆ ไม่ได้หยุดนิ่ง พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ต้องดี และนำพื้นฐานความรู้นั้นไปอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ ถ้าเราเป็นนักเรียนเราก็อยากเรียนกับครูที่สอนสนุก เป็นครูที่เห็นวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว”ศ.ดร.มรกตกล่าว

โดย สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพครูวิทยาศาสตร์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๕ ในโครงการอบรมครูวิทยาศาสตร์ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้ำยุค” เพื่อให้ครูสอนวิทยาศาสตร์มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้ำยุค  นอกเหนือจากความรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน ไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนและกลุ่มครูวิทยาศาสตร์ เพื่อก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และเกิดการสร้างเครือข่ายของครูสอนวิทยาศาสตร์โดยได้กำหนดวันจัดอบรมครูวิทยาศาสตร์  ดังนี้ ครั้งที่ ๑ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี ระหว่างวันที่ ๒๙ – ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕  ครั้งที่ ๒ มหาวิทยาลัยสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๕  ครั้งที่ ๓ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๒๗ – ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๕  ครั้งที่ ๔ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ ๑๑ – ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕