เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2555



เป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้วที่มีเวทีเพื่อเชิดชูนักวิทยาศาสตร์หญิงไทยโดยเฉพาะ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเล็งเห็นว่าในวงการวิทยาศาสตร์นั้นมีผู้หญิงเป็นแรงขับเคลื่อนอยู่จำนวนไม่น้อย แต่เธอเหล่านั้นกลับไม่ได้รับการยกย่องเท่าที่ควร และในโอกาสครบรอบ 1 ทศวรรษของการมอบรางวัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ได้มีการเพิ่มรางวัลในสาขา “เคมี” ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจมากขึ้น
       
       “ใครสนับสนุนวิทยาศาสตร์ผมก็ยินดีทั้งนั้น” ความเห็นของ ดร.กอปร กฤตยากีรณ ประธานคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทยกล่าว โดยอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ภูมิใจที่มีส่วนร่วมในโครงการทุนวิจัยดังกล่าว และประทับใจที่บริษัทเครื่องสำอางซึ่งมีผลิตภัณฑ์สัมผัสกับผู้ใช้โดยตรง แต่ก็มีงานวิจัยเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยต่อผู้ใช้อันถือเป็นความรับผิดชอบสูงสุดต่อสังคม
       
       โครงการวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประเทศไทยนั้นได้สนับสนุนนักวิจัยสตรีไทยเป็นเวลา 10 ปีแล้วผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 35 คนแล้ว โดย นางสดับพิณ คำนวณทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ ลอรีอัล ประเทศไทย กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการมอบทุนวิจัยโดยย้อนไปตั้งแต่เมื่อก่อตั้งบริษัทว่า ลอรีอัลก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2452โดย ยูชีน ชูแลร์ นักเคมีชาวฝรั่งเศส ซึ่งอาศัยห้องครัวเป็นส่วนปฏิบัติการผลิตสีย้อมผม
       
       “ผู้ก่อตั้งบริษัทของเราเป็นนักเคมี ดังนั้น วิทยาศาสตร์จึงเป็นหัวใจของเรา และเรายังเป็นหนึ่งในบริษัทผู้บุกเบกการผลิตเยื่อผิวหนังสังเคราะห์แทนการใช้สัตว์ทดลอง ที่ผ่านมาเราใช้เนื้อเยื่อสังเคราะห์จากยุโรป แต่เมื่อ 3 ปีที่แล้วเราสามารถผลิตเยื่อผิวหนังสังเคราะห์สำหรับชาวเอเชียได้แล้ว” นางสดับพิณกล่าว
       
       ผ่านมากว่าร้อยปีทางลอรีอัลมีนักวิจัยกว่า 3,400 คนจาก 61 เชื้อชาติทำงานอยู่ในศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ลอรีอัล 16 แห่งทั่วโลก และให้ทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาปีละ 26,650 ล้านบาท และมีสิทธิบัตรออกมาเฉลี่ยปีละ 612 สิทธิบัตร แต่ในจำนวนนักวิจัยหลายพันคนนั้นเป็นนักวิจัยผู้หญิงมากกว่า 55% ทำให้ มร.ลินเซย์ โอเว่น โจนส์ ประธานบริษัท ลอรีอัล ริเริ่มโครงการสนับสนุนนักวิจัยผู้หญิงซึ่งเป็นแรงผลักดันนวัตกรรมให้แก่โลก
       
       ดังนั้น ในปี 2542 ลอรีอัลจึงร่วมมือกับองค์กรยูเนสโก (UNESCO) จัดตั้งโครงการทุนวิจัยเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ (For Women in Science) และในปี 2545 ลอรีอัล ประเทศไทย จึงริเริ่มโครงการระดับประเทศในไทยขึ้น ในชื่อโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” โดยมอบทุนใน 2 สาขา คือ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และ วัสดุศาสตร์ และในโอกาสครบรอบ 10 ปี ได้เพิ่มสาขาเคมีอีก 1 สาขา รวมทั้งเพิ่มมูลค่าทุนจาก 200,000 บาท เป็น 250,000 บาท
       
       นางสดับพิณกล่าวว่า ทุนวิจัยในโครงการนี้เป็นทุนให้เปล่า ไม่มีข้อผูกมัด และเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการสนับสนุนงานวิจัยที่ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะเห็นผล และงานวิจัยส่วนมากจะใช้เวลายาวนานนับสิบปีและต่อยอดได้เรื่อยๆ ซึ่งจากการติดตามจึงพอจะทราบว่านักวิจัยบางท่านได้นำทุนวิจัยไปใช้ในการเพิ่มศักยภาพของคณะทำงาน ทั้งนี้ ไม่มีงานวิจัยใดเลยที่เกี่ยวกับเครื่องสำอาง หรือเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของลอรีอัล
       
 
       สำหรับคณะกรรมการตัดสินรางวัลได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในวงการวิทยาศาสตร์ทั้งหมด 8 ท่าน อาทิ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ รองปะธานกิตติมศักดิ์และอดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศ.ดร.รมว.ชิษณุสรร สวัสดิวัฒน์ อดีตนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ศ.ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา ศาสตรจารย์ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น และ ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ศาสตราจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัลคนล่าสุดจากการเพิ่มรางวัลสาขาเคมี
       
       ในมุมของ ศ.ดร.จำรัสกล่าวว่า เราเห็นได้ว่าผู้บริหารหรือผู้มีตำแหน่งสูงๆ ด้านวิทยาศาสตร์นั้นยังเป็นผู้หญิงอยู่น้อย แต่ในคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ มีนักศึกษาเป็นผู้หญิงมากกว่า 50% ซึ่งผู้หญิงยังได้รับโอกาสอยู่น้อย จึงน่าจะมีรางวัลสำหรับผู้หญิงมาตั้งนานแล้ว พร้อมทั้งให้ความเห็นว่าการที่ผู้หญิงเติบโตสู่ตำแหน่งบริหารได้น้อย ส่วนหนึ่งเพราะผู้หญิงนั้นมีภาระหนักด้านงานบ้านที่ต้องรับผิดชอบควบคู่ไปด้วย
       
       อย่างไรก็ดี ภาพโอกาสความก้าวหน้าของผู้หญิงในปัจจุบันนั้น ทาง ดร.กอปรกล่าวว่าเป็นภาพย้อนของอดีตเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งในยุคก่อนนั้นผู้หญิงยังได้รับโอกาสทางการศึกษาและอื่นๆ อยู่น้อย และกว่าจะเติบโตเป็นผู้บริหารต้องใช้เวลานาน หากแต่เชื่อว่าต่อไปในอีก 10-20 ปี จะเห็นผู้หญิงก้าวหน้าในอาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีผู้หญิงเรียนวิทยาศาสตร์กันมาก ขณะเดียวกันประเทศไทยก็เป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่โอกาสในการทำงานระหว่างผู้หญิงและผู้ชายเท่าเทียมกัน
       
       สำหรับเกณฑ์ในการรับสมัครนักวิจัยสตรีไทยเข้ารับรางวัลเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์นี้เปิดโอกาสให้แก่นักวิจัยหญิงทีมีอายุระหว่าง 25-40 ปีและมีผลงานวิจัยอิสระที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวัสดุศาสตร์ และสาขาเคมี ซึ่งคณธกรรมการจะพิจารณามอบทุนทั้งสิ้นไม่เกิน 5 ทุน และผู้สมัครยังได้รับสิทธิคัดเลือกเสนอชื่อเพื่อชิงทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ต่อไป
       
       ******
       นักวิจัยสตรีไทยผู้สนใจสมัครทุน “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ขอใบสมัครได้ที่ beauty@th.loreal.com หรือ โทร.0-2684-3000 และส่งใบสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ - 31 พ.ค.55 (ประกาศผลรางวัลในเดือน ส.ค.55)


บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด โดยการสนับสนุนของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศเปิดรับสมัครสตรีนักวิทยาศาสตร์ไทยเข้าร่วมโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ครั้งที่ 10 ประจำปี 2555 ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 พฤษภาคมนี้
นางสดับพิณ คำนวณทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “ในปีนี้เป็นวาระพิเศษ ในโอกาสการดำเนินการมาถึงขวบปีที่ 10 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและพันธะสัญญาของลอรีอัลในการร่วมสนับสนุนวงการวิทยาศาสตร์ของไทยให้พัฒนาก้าวไปข้างหน้า รวมถึงการสนับสนุนบทบาทของสตรีไทยในงานวิทยาศาสตร์ เราจึงได้เพิ่มรางวัลจากเดิม 4 ทุน เป็น 5 ทุน นอกจากนี้ยังได้เพิ่มมูลค่าทุนจากเดิม 200,000 บาท ต่อทุน เป็น 250,000 บาทต่อทุน และเพิ่มสาขาของทุนสนับสนุนงานวิจัย จากเดิมเพียง 2 สาขา คือ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวัสดุศาสตร์ ปีนี้เราได้เพิ่มอีกหนึ่งสาขา คือ สาขาวิทยาศาสตร์เคมี”

“วิทยาศาสตร์เคมี” เป็นสาขาที่มีความใกล้ชิดกับลอรีอัลเป็นอย่างมาก ประการแรก คือ ผู้ก่อตั้งลอรีอัล มร.ยูชีน ชูแลร์ ซึ่งเป็นนักเคมี ที่ได้คิดค้นน้ำยาย้อมผมที่ปลอดภัยกับหนังศรีษะเป็นครั้งแรก ประการที่สอง คือ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาลอรีอัลได้ให้ทุนวิจัยในสาขาที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสูตรเครื่องสำอาง แต่ในปีนี้ได้เริ่มให้ทุนในสาขาที่เกี่ยวข้อง และวิทยาศาสตร์เคมี เป็นสาขาที่เป็นแก่นของการค้นคว้าวิจัยเครื่องสำอาง

ดร.กอปร กฤตยากีรณ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า  “ผมมีความภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ของลอรีอัล การพิจารณาเพิ่มทุนในสาขาวิทยาศาสตร์เคมีนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเคมีเป็นศูนย์กลางของวิทยาศาสตร์ เคมีเป็นพื้นฐานของความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและจักรวาลของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับโมเลกุลเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตอาหาร ยา เชื้อเพลิง โลหะ ฯลฯ วิทยาศาสตร์ด้านการพัฒนาเพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของมวลมนุษยชาติ ล้วนมาจากศาสตร์เคมีทั้งสิ้น”

“ที่ผ่านมา ลอรีอัลได้มอบทุนวิจัยให้กับนักวิจัยสตรีคนไทยแล้ว 35 ทุน โดยได้รับเกียรติจากนักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศร่วมเป็นคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ ลอรีอัลอยากเชิญชวนนักวิจัยสตรีไทยส่งใบสมัครเข้ามารับทุน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้สังคมไทยเห็นความสำคัญของงานวิทยาศาสตร์ในวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ การค้นคว้าวิจัยมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของคนไทย” 

ในปี 2555 โครงการ ทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” จะมีการมอบทุนสนับสนุนงานวิจัยทุนละ 250,000 บาท จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 5 ทุน ให้กับสตรีนักวิทยาศาสตร์ที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี ที่มีผลงานวิจัยโดดเด่นในสาขาวัสดุศาสตร์ (Material Science) สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Science) หรือสาขาวิทยาศาตร์เคมี (Chemical Science)

นักวิจัยที่สนใจสามารถสมัครรับทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ครั้งที่ 10 ประจำปี 2555 ได้ถึงวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ โดยสามารถขอรับใบสมัครได้ที่ beauty@th.loreal.com หรือโทร.0-2684-300
0

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น