เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2555



เป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้วที่มีเวทีเพื่อเชิดชูนักวิทยาศาสตร์หญิงไทยโดยเฉพาะ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเล็งเห็นว่าในวงการวิทยาศาสตร์นั้นมีผู้หญิงเป็นแรงขับเคลื่อนอยู่จำนวนไม่น้อย แต่เธอเหล่านั้นกลับไม่ได้รับการยกย่องเท่าที่ควร และในโอกาสครบรอบ 1 ทศวรรษของการมอบรางวัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ได้มีการเพิ่มรางวัลในสาขา “เคมี” ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจมากขึ้น
       
       “ใครสนับสนุนวิทยาศาสตร์ผมก็ยินดีทั้งนั้น” ความเห็นของ ดร.กอปร กฤตยากีรณ ประธานคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทยกล่าว โดยอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ภูมิใจที่มีส่วนร่วมในโครงการทุนวิจัยดังกล่าว และประทับใจที่บริษัทเครื่องสำอางซึ่งมีผลิตภัณฑ์สัมผัสกับผู้ใช้โดยตรง แต่ก็มีงานวิจัยเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยต่อผู้ใช้อันถือเป็นความรับผิดชอบสูงสุดต่อสังคม
       
       โครงการวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประเทศไทยนั้นได้สนับสนุนนักวิจัยสตรีไทยเป็นเวลา 10 ปีแล้วผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 35 คนแล้ว โดย นางสดับพิณ คำนวณทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ ลอรีอัล ประเทศไทย กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการมอบทุนวิจัยโดยย้อนไปตั้งแต่เมื่อก่อตั้งบริษัทว่า ลอรีอัลก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2452โดย ยูชีน ชูแลร์ นักเคมีชาวฝรั่งเศส ซึ่งอาศัยห้องครัวเป็นส่วนปฏิบัติการผลิตสีย้อมผม
       
       “ผู้ก่อตั้งบริษัทของเราเป็นนักเคมี ดังนั้น วิทยาศาสตร์จึงเป็นหัวใจของเรา และเรายังเป็นหนึ่งในบริษัทผู้บุกเบกการผลิตเยื่อผิวหนังสังเคราะห์แทนการใช้สัตว์ทดลอง ที่ผ่านมาเราใช้เนื้อเยื่อสังเคราะห์จากยุโรป แต่เมื่อ 3 ปีที่แล้วเราสามารถผลิตเยื่อผิวหนังสังเคราะห์สำหรับชาวเอเชียได้แล้ว” นางสดับพิณกล่าว
       
       ผ่านมากว่าร้อยปีทางลอรีอัลมีนักวิจัยกว่า 3,400 คนจาก 61 เชื้อชาติทำงานอยู่ในศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ลอรีอัล 16 แห่งทั่วโลก และให้ทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาปีละ 26,650 ล้านบาท และมีสิทธิบัตรออกมาเฉลี่ยปีละ 612 สิทธิบัตร แต่ในจำนวนนักวิจัยหลายพันคนนั้นเป็นนักวิจัยผู้หญิงมากกว่า 55% ทำให้ มร.ลินเซย์ โอเว่น โจนส์ ประธานบริษัท ลอรีอัล ริเริ่มโครงการสนับสนุนนักวิจัยผู้หญิงซึ่งเป็นแรงผลักดันนวัตกรรมให้แก่โลก
       
       ดังนั้น ในปี 2542 ลอรีอัลจึงร่วมมือกับองค์กรยูเนสโก (UNESCO) จัดตั้งโครงการทุนวิจัยเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ (For Women in Science) และในปี 2545 ลอรีอัล ประเทศไทย จึงริเริ่มโครงการระดับประเทศในไทยขึ้น ในชื่อโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” โดยมอบทุนใน 2 สาขา คือ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และ วัสดุศาสตร์ และในโอกาสครบรอบ 10 ปี ได้เพิ่มสาขาเคมีอีก 1 สาขา รวมทั้งเพิ่มมูลค่าทุนจาก 200,000 บาท เป็น 250,000 บาท
       
       นางสดับพิณกล่าวว่า ทุนวิจัยในโครงการนี้เป็นทุนให้เปล่า ไม่มีข้อผูกมัด และเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการสนับสนุนงานวิจัยที่ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะเห็นผล และงานวิจัยส่วนมากจะใช้เวลายาวนานนับสิบปีและต่อยอดได้เรื่อยๆ ซึ่งจากการติดตามจึงพอจะทราบว่านักวิจัยบางท่านได้นำทุนวิจัยไปใช้ในการเพิ่มศักยภาพของคณะทำงาน ทั้งนี้ ไม่มีงานวิจัยใดเลยที่เกี่ยวกับเครื่องสำอาง หรือเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของลอรีอัล
       
 
       สำหรับคณะกรรมการตัดสินรางวัลได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในวงการวิทยาศาสตร์ทั้งหมด 8 ท่าน อาทิ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ รองปะธานกิตติมศักดิ์และอดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศ.ดร.รมว.ชิษณุสรร สวัสดิวัฒน์ อดีตนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ศ.ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา ศาสตรจารย์ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น และ ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ศาสตราจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัลคนล่าสุดจากการเพิ่มรางวัลสาขาเคมี
       
       ในมุมของ ศ.ดร.จำรัสกล่าวว่า เราเห็นได้ว่าผู้บริหารหรือผู้มีตำแหน่งสูงๆ ด้านวิทยาศาสตร์นั้นยังเป็นผู้หญิงอยู่น้อย แต่ในคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ มีนักศึกษาเป็นผู้หญิงมากกว่า 50% ซึ่งผู้หญิงยังได้รับโอกาสอยู่น้อย จึงน่าจะมีรางวัลสำหรับผู้หญิงมาตั้งนานแล้ว พร้อมทั้งให้ความเห็นว่าการที่ผู้หญิงเติบโตสู่ตำแหน่งบริหารได้น้อย ส่วนหนึ่งเพราะผู้หญิงนั้นมีภาระหนักด้านงานบ้านที่ต้องรับผิดชอบควบคู่ไปด้วย
       
       อย่างไรก็ดี ภาพโอกาสความก้าวหน้าของผู้หญิงในปัจจุบันนั้น ทาง ดร.กอปรกล่าวว่าเป็นภาพย้อนของอดีตเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งในยุคก่อนนั้นผู้หญิงยังได้รับโอกาสทางการศึกษาและอื่นๆ อยู่น้อย และกว่าจะเติบโตเป็นผู้บริหารต้องใช้เวลานาน หากแต่เชื่อว่าต่อไปในอีก 10-20 ปี จะเห็นผู้หญิงก้าวหน้าในอาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีผู้หญิงเรียนวิทยาศาสตร์กันมาก ขณะเดียวกันประเทศไทยก็เป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่โอกาสในการทำงานระหว่างผู้หญิงและผู้ชายเท่าเทียมกัน
       
       สำหรับเกณฑ์ในการรับสมัครนักวิจัยสตรีไทยเข้ารับรางวัลเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์นี้เปิดโอกาสให้แก่นักวิจัยหญิงทีมีอายุระหว่าง 25-40 ปีและมีผลงานวิจัยอิสระที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวัสดุศาสตร์ และสาขาเคมี ซึ่งคณธกรรมการจะพิจารณามอบทุนทั้งสิ้นไม่เกิน 5 ทุน และผู้สมัครยังได้รับสิทธิคัดเลือกเสนอชื่อเพื่อชิงทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ต่อไป
       
       ******
       นักวิจัยสตรีไทยผู้สนใจสมัครทุน “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ขอใบสมัครได้ที่ beauty@th.loreal.com หรือ โทร.0-2684-3000 และส่งใบสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ - 31 พ.ค.55 (ประกาศผลรางวัลในเดือน ส.ค.55)


บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด โดยการสนับสนุนของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศเปิดรับสมัครสตรีนักวิทยาศาสตร์ไทยเข้าร่วมโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ครั้งที่ 10 ประจำปี 2555 ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 พฤษภาคมนี้
นางสดับพิณ คำนวณทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “ในปีนี้เป็นวาระพิเศษ ในโอกาสการดำเนินการมาถึงขวบปีที่ 10 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและพันธะสัญญาของลอรีอัลในการร่วมสนับสนุนวงการวิทยาศาสตร์ของไทยให้พัฒนาก้าวไปข้างหน้า รวมถึงการสนับสนุนบทบาทของสตรีไทยในงานวิทยาศาสตร์ เราจึงได้เพิ่มรางวัลจากเดิม 4 ทุน เป็น 5 ทุน นอกจากนี้ยังได้เพิ่มมูลค่าทุนจากเดิม 200,000 บาท ต่อทุน เป็น 250,000 บาทต่อทุน และเพิ่มสาขาของทุนสนับสนุนงานวิจัย จากเดิมเพียง 2 สาขา คือ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวัสดุศาสตร์ ปีนี้เราได้เพิ่มอีกหนึ่งสาขา คือ สาขาวิทยาศาสตร์เคมี”

“วิทยาศาสตร์เคมี” เป็นสาขาที่มีความใกล้ชิดกับลอรีอัลเป็นอย่างมาก ประการแรก คือ ผู้ก่อตั้งลอรีอัล มร.ยูชีน ชูแลร์ ซึ่งเป็นนักเคมี ที่ได้คิดค้นน้ำยาย้อมผมที่ปลอดภัยกับหนังศรีษะเป็นครั้งแรก ประการที่สอง คือ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาลอรีอัลได้ให้ทุนวิจัยในสาขาที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสูตรเครื่องสำอาง แต่ในปีนี้ได้เริ่มให้ทุนในสาขาที่เกี่ยวข้อง และวิทยาศาสตร์เคมี เป็นสาขาที่เป็นแก่นของการค้นคว้าวิจัยเครื่องสำอาง

ดร.กอปร กฤตยากีรณ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า  “ผมมีความภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ของลอรีอัล การพิจารณาเพิ่มทุนในสาขาวิทยาศาสตร์เคมีนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเคมีเป็นศูนย์กลางของวิทยาศาสตร์ เคมีเป็นพื้นฐานของความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและจักรวาลของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับโมเลกุลเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตอาหาร ยา เชื้อเพลิง โลหะ ฯลฯ วิทยาศาสตร์ด้านการพัฒนาเพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของมวลมนุษยชาติ ล้วนมาจากศาสตร์เคมีทั้งสิ้น”

“ที่ผ่านมา ลอรีอัลได้มอบทุนวิจัยให้กับนักวิจัยสตรีคนไทยแล้ว 35 ทุน โดยได้รับเกียรติจากนักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศร่วมเป็นคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ ลอรีอัลอยากเชิญชวนนักวิจัยสตรีไทยส่งใบสมัครเข้ามารับทุน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้สังคมไทยเห็นความสำคัญของงานวิทยาศาสตร์ในวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ การค้นคว้าวิจัยมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของคนไทย” 

ในปี 2555 โครงการ ทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” จะมีการมอบทุนสนับสนุนงานวิจัยทุนละ 250,000 บาท จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 5 ทุน ให้กับสตรีนักวิทยาศาสตร์ที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี ที่มีผลงานวิจัยโดดเด่นในสาขาวัสดุศาสตร์ (Material Science) สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Science) หรือสาขาวิทยาศาตร์เคมี (Chemical Science)

นักวิจัยที่สนใจสามารถสมัครรับทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ครั้งที่ 10 ประจำปี 2555 ได้ถึงวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ โดยสามารถขอรับใบสมัครได้ที่ beauty@th.loreal.com หรือโทร.0-2684-300
0

คุณครูไทยสอนวิทยาศาสตร์ยุคนี้เหนื่อยไหม

 การอบรมครูวิทยาศาสตร์ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้ำยุค” ที่จัดขึ้นครั้งที่ 1 สำหรับครูในเขตภาคกลางระหว่างวันที่ 29-31 พ.ค.55 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย


ในสังคมปัจจุบัน ไม่เพียงแต่สิ่งแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมาก องค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ก็ก้าวหน้าไปมากเช่นกัน การเป็นครูในยุคสมัยนี้คงยิ่งเหนื่อยยากกว่าเก่าเป็นทวีคูณ เพราะมิใช่แค่เพียงต้องก้าวตามเทคโนโลยีต่างๆ ให้ทัน แต่ยังต้องช่วยให้ลูกศิษย์ก้าวตามอย่างรู้เท่าทันด้วย


       
 ขณะที่ นายนิพนธ์ ศรีนฤมล จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเป็นครูรางวัลครูดีเด่นคุรุสภา ปี 2550 อีกทั้งยังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษานักเรียนในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลระดับโลกหลายรางวัล ให้ความเห็นถึงวามยากลำบากของครูวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันว่า ต้องทำการบ้านเยอะ เพราะสมัยนี้ไม่ใช่แค่เรียนให้ได้ความรู้แต่ต้องรอบรู้วิทยาศาสตร์ด้วย เนื่องวิทยาศาสตร์ล้ำยุคและก้าวกระโดดไปมาก
       
       “ต้องให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่ใกล้ตัว ทำให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และตัวครูเองต้องติดตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็ก ให้เด็กคิดวิเคราะห์เยอะๆ ซึ่งไม่เพียงแค่เด็กเท่านั้น แต่ครูต้องกล้าเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ชี้แนะเด็ก ไม่ใช่ ชี้นำ” ครูนิพนธ์กล่าว และเสริมว่าการเรียนสมัยนี้พึ่งครูเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีความร่วมมือระหว่างครู ผู้ปกครองและชุมชนด้วย

       
       

น.ส.เกสร ยุวัฒนา อาจารย์วิทยาศาสตร์จากโรงเรียนภาชี “สุนทรวิทยานุกูล” จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้มีประสบการณ์วิทยาศาสตร์นานถึง 36 ปี กล่าวว่า องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์นั้นเปลี่ยนไปจากเดิม ขณะเดียวกัน ทั้งเด็กและสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนตามไปด้วย ปัจจุบันเทคโนโลยีไปไกลมากและช่วยให้นักเรียนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา

       
       “เวลาครูสอนถ้าบอกเด็กว่าเรื่องนี้สามารถค้นได้จากอินเทอร์เน็ต เขาก็จะค้นดูเดี๋ยวนั้นเลย แต่เรื่องนี้ก็เป็นพฤติกรรมเฉพาะบางคน สำหรับเด็กเก่งก็จะได้ประโยชน์แต่เด็กบางคนก็ใช้ไปกับเรื่องไร้สาระ อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีทุกวันนี้นับว่ามีประโยชน์สำหรับเด็กเก่ง” ครูวิทยาศาสตร์วัย 57 ปี ให้ความเห็น
       
       ส่วนเรื่องข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบนั้น ครูเกสร มองว่า นักเรียนในชนบทนั้นแข่งขันกับนักเรียนในเมืองได้ยาก และยังมีความเสียเปรียบในเรื่องความพร้อม ทั้งเรื่องครูและอุปกรณ์ที่เทียบกับนักเรียนในเมืองไม่ได้ อย่างไรก็ดี ในโรงเรียนเล็กๆ ก็ยังพอมีนักเรียนเก่งๆ อยู่บ้าง ซึ่งเด็กเหล่านั้นมักเรียนต่อในโรงเรียนเล็กๆ เพื่อจะได้รับประโยชน์เรื่องสิทธิการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยผ่านระบบรับตรง
       
       “เด็กเก่งมักจะเก่งด้วยตัวเองอยู่แล้วซึ่งเราก็ส่งเสริมให้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ หรือเป็นตัวแทนตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ ส่วนเด็กไม่เก่งนั้นมีหลายแบบ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เด็กอ่านหนังสือไม่แตกฉาน ไม่สนใจ และเดี๋ยวนี้เขาเน้นไม่ให้เด็กสอบตก หากเด็กตก ผู้สอนก็จะโดนตำหนิ ซึ่งหลายคนก็ถูกปล่อยผ่านมาตั้งแต่ประถมจนเมื่อถึงชั้นมัธยมก็กลายเป็นปัญหา” ครูเกสร กล่าวถึงปัญหาการเรียนการสอนในเด็กยุคใหม่ซึ่งสะท้อนปัญหาการศึกษาทั่วไปของไทยได้
       
       ทางด้าน น.ส.พัชรี สรวยล้ำ อาจารย์เคมีระดับ ม.ปลายประจำโรงเรียนวิเชียรกลิ่นสุคนธ์อุปถัมภ์ จ.พระนครศรีอยุธยา ครูวัย 27 ปี 
ซึ่งจบทางด้านเคมีมาโดยตรงกล่าวว่าที่โรงเรียนแบ่งการสอนวิทยาศาสตร์ตามความรู้ของครูของอย่างชัดเจน ซึ่งการสอนวิทยาศาสตร์ในสมัยนี้จำเป็นต้องใช้สื่อที่ทันสมัย เช่น ใช้คอมพิวเตอร์สื่อเรื่องการทดลอง เป็นต้น แต่ก็ยังต้องมีการทดลองเพื่อฝึกทักษะการใช้อุปกรณ์ให้แก่นักเรียน
       
       “จากประสบการณ์ที่สอนมา 6 ปี เนื้อหาทางด้านเคมีไม่ได้ต่างไปจากเดิมมากนัก แต่เรื่องการประยุกต์ใช้มีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก และเด็กๆ ก็มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมากกว่าเมื่อก่อนมาก มีคำศัพท์ใหม่ๆ มาถามบ่อย มีการใช้อินเทอร์เน็ตช่วยในการเรียนการสอนด้วย แต่ก็มีอุปสรรคในการสอนคือเด็กไม่เข้าใจวิทย์ แค่ได้ยินก็ไม่อยากเรียนแล้ว ซึ่งวิธีทำให้เด็กสนใจ คือ เด็กชอบการทดลอง เด็กอยากทดลอง ก็ให้เด็กได้ทดลอง แล้วค่อยอัดทฤษฎีให้ทีหลัง” ครูพัชรี กล่าว

       
       ทั้งนี้ เป็นการให้ความเห็นระหว่างการอบรมครูวิทยาศาสตร์ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้ำยุค” ที่จัดขึ้นครั้งที่ 1 สำหรับครูในเขตภาคกลางระหว่างวันที่ 29-31 พ.ค.55 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

 ซึ่ง ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงการจัดงานว่า ต้องการให้ครูวิทยาศาสตร์ได้เห็นว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และนำไปบอกนักเรียนว่าเมื่อการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์แล้วไปทำงานอย่างไรได้บ้าง
       
       “ครูวิทยาศาสตร์ในอุดมคติ คือ ครูที่ก้าวทันโลก เพราะสิ่งต่างๆ ไม่ได้หยุดนิ่ง พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ต้องดี และนำพื้นฐานความรู้นั้นไปอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ ถ้าเราเป็นนักเรียนเราก็อยากเรียนกับครูที่สอนสนุก เป็นครูที่เห็นวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว”ศ.ดร.มรกตกล่าว

โดย สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพครูวิทยาศาสตร์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๕ ในโครงการอบรมครูวิทยาศาสตร์ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้ำยุค” เพื่อให้ครูสอนวิทยาศาสตร์มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้ำยุค  นอกเหนือจากความรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน ไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนและกลุ่มครูวิทยาศาสตร์ เพื่อก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และเกิดการสร้างเครือข่ายของครูสอนวิทยาศาสตร์โดยได้กำหนดวันจัดอบรมครูวิทยาศาสตร์  ดังนี้ ครั้งที่ ๑ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี ระหว่างวันที่ ๒๙ – ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕  ครั้งที่ ๒ มหาวิทยาลัยสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๕  ครั้งที่ ๓ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๒๗ – ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๕  ครั้งที่ ๔ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ ๑๑ – ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕